วิธีการตะไบ
ชิ้นงานที่ต้องการนำมาทำการตะไบเพื่อลดขนาดให้ได้พิกัดตามแบบสั่งงานหรือทำการตะไบเพื่อให้ผิวงานเรียบก็ตามจะมีขั้นตอนหรือเทคนิควิธีการต่างๆซึ่งช่างเทคนิคจะต้องศึกษาและต้องปฏิบัติคือ
1. การจับชิ้นงาน
ชิ้นงานที่นำมาตะไบนั้นมีรูปร่างลักษณะต่างๆกัน ซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ประกอบเพื่อช่วยจับชิ้นงานซึ่งต้องใช้อุปกรณ์ประกอบเพื่อช่วยจับชิ้นงาน การจับชิ้นงานไม่ควรจับให้โผล่สูงเกินกว่า 10 มิลลิเมตรเพราะจะทำให้งานโยกหรือสั่นได้ ระดับการจับชิ้นงานโดยทั่วไปจะอยู่ในระดับแนวข้อศอกฉะนั้นจึงควรตรวจสอบระดับความสูงของชิ้นงานก่อนลงมือปฏิบัติงาน
2. การยืนปฏิบัติงาน
การยืนปฏิบัติงานตะไบต้องยืนให้ร่างกายอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสม โดยหันหน้าไปทางปากกาจับชิ้นงาน เท้าที่ถนัดไว้ข้างหลัง ทิ้งน้ำหนักตัวอยู่บนเท้าทั้งสองข้าง ขณะทำการตะไบให้โยกตัวตามตะไบ การยืนปฏิบัติงานในลักษณะที่ถนัดจะทำให้ไม่เกิดการเมื่อยล้าได้ง่าย
3. การจับตะไบ
ใช้มือที่ถนัดจับด้ามตะไบ โดยให้นิ้วทั้งสี่กำรอบด้าม ให้หัวแม่มือกดด้านบนด้ามตะไบ ทำหน้าที่ออกแรงดันตัวตะไบไปด้านหน้าเพื่อให้คมตะไบตัดเฉือนเนื้อวัสดุงาน ส่วนมือข้างที่ไม่ถนัดจับปลายตะไบทำหน้าที่บังคับและควบคุมตะไบ การจับตะไบมี 3 ลักษณะคือ
3.1 การตะไบงานหนัก
เป็นการตะไบที่ต้องการให้คมตะไบตัดเฉือนเนื้อวัสดุออกมากๆเป็นการตะไบขึ้นรูปอย่างหยาบๆ การตะไบงานหนักทำได้โดยใช้มือข้างที่ถนัดจับด้ามตะไบ ส่วนข้างที่ไม่ถนัดใช้อุ้งมือกดปลายตะไบ
3.2 การตะไบงานเบา
เป็นการตะไบงานให้ได้พิกัดขนาดตามแบบสั่งงาน การตะไบงานเบาทำโดยใช้มือข้างถนัดจับด้ามตะไบ ส่วนมือข้างที่ไม่ถนัดใช้นิ้วหัวแม่มือกดที่ปลายตะไบและใช้นิ้วทั้งสี่จับด้านล่างของปลายตะไบ
3.3 การตะไบแต่งผิว
เป็นการตะไบเพื่อแต่งผิวชิ้นงานให้เรียบเป็นเงามันสวยงามเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตะไบ โดยใช้มือข้างถนัดจับด้ามตะไบ ส่วนมือข้างไม่ถนัดกางนิ้วมืออกให้หัวแม่มือกดที่กลางตะไบและให้นิ้วทั้งสี่กดที่ปลายตะไบ
4. การบังคับตะไบ
เป็นการควบคุมรักษาระดับของตะไบขณะทำงานให้ตะไบขนานกับผิวหน้าชิ้นงานโดยขณะทำงานตะไบมือที่ถนัดออกแรงดันตะไบไปข้างหน้าและออกแรงกดขณะเดียวกันมือข้างที่ไม่ถนัดทำหน้าที่ประคองตะไบและออกแรงกดมือทั้งสองข้างต้องพยายามออกแรงกดเท่าๆกันโดยสายตามองอยู่ที่ชิ้นงานในจังหวะดึงตะไบกลับไปไม่ต้องออกแรงกดตะไบและสังเกตว่าตะไบกินงานด้านใกล้ตัวหรือไกลตัวก็คอยบังคับน้ำหนักกด